บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ผู้นำทางการผลิตและการจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และสาธารณูปโภคขนาดกลางที่เข้มแข็ง เป็นธุรกิจที่มีความมั่นคงแม้ในสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดหุ้น เนื่องจากประกอบธุรกิจสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งยังมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นหน่วยงานภาครัฐและอุตสาหกรรมที่มีความมั่นคง มีการทำสัญญาระยะยาว ซึ่งทำให้บริษัทได้รับรายได้ที่แน่นอน โดยผลประกอบการไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2558 GPSC มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำกำไรของบริษัทตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้ โดยมีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิถึง 444.6% หรือ เพิ่มจาก 98 ล้านบาทในปี 2557 เป็น 531 ล้านบาทในปี 2558 ในขณะที่มีรายได้เพิ่มขึ้น 30.04% จาก 4,978 ล้านบาทในปี 2557 เป็น 6,473 ล้านบาทในปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ระยะสั้น ในการเข้าลงทุนในกิจการที่พร้อมปฏิบัติการและที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยคาดว่าหากโครงการเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดจะทำให้รายได้และกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนในอนาคตระยะยาว GPSC ก็จะเน้นในการลงทุนในโครงการใหญ่ และโครงการเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงในการขยายตัวและเติบโต
นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า “GPSC มุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจไฟฟ้าของภูมิภาคเอเชีย เพื่อสร้างฐานที่มั่นคงให้กับธุรกิจพลังงานไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของไทยให้ก้าวไกลและเติบโตได้อย่างมั่นคง โดยการระดมทุนครั้งนี้ จะนำเงินที่ได้ไปลงทุนในการขยายกิจการในธุรกิจต่างๆ ของ GPSC ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของ GPSC ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะฝ่ายแผนงานองค์กรได้ร่วมกันมองหาโอกาสในการร่วมทุนและพัฒนาโปรเจคใหม่ๆ ตั้งแต่เข้าตลาดฯ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมามีโปรเจคที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้วกว่า 4 โปรเจค ได้แก่ 1) โครงการศูนย์ผลิตสาธารณูปการแห่งที่ 4 (CUP 4) ภายในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จังหวัดระยอง โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง สามารถผลิตทั้งไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำปราศจากแร่ธาตุ โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 392 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำราว 70 ตันต่อชั่วโมง โดยสามารถรองรับความต้องการได้ทั้งลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในนิคมอุตสาหกรรมเอเชียและนิคมฯ ใกล้เคียง มูลค่าการลงทุนประมาณ 3,670 ล้านบาท ปัจจุบันโครงการนี้ได้ผ่านการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 2) โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ร่วมกับ บริษัท Marubeni Corporation และ EDEN Group ที่เมืองตันลิน ประเทศพม่า คาดว่าจะมีกำลังการผลิตประมาณ 400 เมกะวัตต์ เพื่อสนับสนุนเมียนมาร์ในการเสริมความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าบริเวณเมืองย่างกุ้งที่มีความต้องการในการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับผู้แทนรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ในการมอบสิทธิแต่เพียงผู้เดียวและการสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้ไปเมื่อเร็วๆ นี้ 3) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ichinoseki Solar Power - 1 GK ประเทศญี่ปุ่น โดยเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วน 99% ซึ่งจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 20.8 เมกะวัตต์ ตามที่ได้รับการอนุมัติจาก Ministry of Economy, Trade and Industry (METI) ของประเทศญี่ปุ่น
“จากการที่พนักงานและผู้บริหารของ GPSC ได้ร่วมกันทำงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาองค์กร แผนงานและโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ตนเชื่อว่าบริษัทฯ จะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายระยะสั้นที่วางไว้ อันได้แก่เป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยเพิ่มจากปัจจุบันอีก 600–1,000 เมกะวัตต์ ภายในปีพ.ศ. 2562 และเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจที่ตั้งไว้ GPSC ได้กำหนดกลยุทธ์ในการเติบโตทางธุรกิจออกเป็น 4 แนวทางหลัก ดังนี้ 1) การเติบโตไปพร้อมกับการขยายธุรกิจของบริษัทในกลุ่ม ปตท. เพื่อสร้างความมีเสถียรภาพด้านไฟฟ้าและสาธารณูปโภคต่อกระบวนการผลิตของบริษัทต่างๆ ในกลุ่ม ปตท. 2) การเติบโตอย่างรวดเร็วผ่านการพัฒนาโครงการระยะสั้น หรือการเข้าซื้อกิจการ เพื่อให้ GPSC สามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ในระยะสั้น GPSC จึงมีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ เช่น การลงทุนต่อเนื่องใน BIC สาหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น (Cogeneration Power Plant) โครงการที่ 2 และร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ก๊าซชีวภาพ และชีวมวล ซึ่งใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างค่อนข้างสั้น นอกจากนี้ GPSC มีนโยบายที่จะเข้าซื้อกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน (Merger & Acquisition: M&A) ในโครงการผลิตไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ ทั้งที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วหรืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยล่าสุดได้เข้าลงทุนใน 3) การเติบโตโดยการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศและภูมิภาคใกล้เคียง เพื่อให้ GPSC สามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ในระยะยาว GPSC จึงมีแผนที่จะพัฒนาและร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ในประเทศและภูมิภาคใกล้เคียง เช่น เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นต้น 4) การลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง นอกจากการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า GPSC มีแผนขยายธุรกิจไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น ธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่ (Energy Storage System and Battery) โดย GPSC ได้เข้าร่วมลงทุนใน 24M ซึ่งประกอบธุรกิจหลักในการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ประเภทลิเทียม-ไอออน (Lithium-Ion) ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ธุรกิจบริษัทจัดการพลังงาน (Energy Service Company: ESCO) ซึ่งให้บริการแบบครบวงจรด้านการอนุรักษ์พลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน รวมทั้งการลงทุนพัฒนาโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า โดยมุ่งเน้นตลาดในต่างประเทศที่ยังไม่มีโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าที่ครอบคลุม เพื่อขยายความต้องการใช้ไฟฟ้าและเพิ่มโอกาสในการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าว ตลอดจนแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อต่อยอดจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้นักลงทุนมั่นใจในการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต” นายนพดลกล่าวสรุปในตอนท้าย